การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราเข้าใจ และเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ บางครั้งก็รู้สึกท้อแท้ เหนื่อย หลายๆครั้งก็ไม่สามารถจัดการความรู้สึกท้อแท้ได้ แต่ก็ต้องสู้ต่อไป ทั้งกับการทำงาน ปัญหาเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สะสมรวมเป็นความท้อแท้ในใจ แสดงออกผ่านทางร่างกาย ความคิด และคุณภาพการใช้ชีวิตที่ลดลง พลอยขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ
บางครั้งชีวิตก็เหมือนทางเดินที่ชันและยาวไกล มองไม่เห็นเส้นชัย เพราะเมื่อเราผ่านเส้นชัยแล้ว เราก็ต้องเดินทางอีก จนผ่านเส้นชัยไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ หากใจเราไม่เข้มแข็ง ไม่แข็งแรงพอ มันจะทำให้เรารู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้า และอยากหยุดพัก
วันนี้เราจะมาคุยกันถึงเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ และวิธีที่จะช่วยปลอบใจ เติมพลังใจให้กลับมาใหม่อีกครั้ง
ทำไมถึงรู้สึกท้อแท้กับชีวิตบ่อยๆ
ความท้อแท้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ในหลายๆครั้งที่เราอาจจะรู้สึกแบบนั้นซ้ำๆ เช่น ท้อกับเรื่องๆนึง ทำให้เราไม่มีแรงใจสู้ต่อ เรื่องอื่นๆก็เข้ามา สะสมความท้อแท้ให้กับเรา โดยที่เราไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริง ความท้อแท้มักเกิดจากความคาดหวังที่ไม่เป็นไปตามแผน หรือความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่สะสมจากความกดดันในเรื่องงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์ เรื่องส่วนตัวต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในชีวิตก็ทำให้เรารู้สึกสับสนและท้อแท้ได้ง่ายขึ้น เพราะคนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงค่ะ ลองมาดูกันว่าสิ่งที่ทำให้เราท้อแท้มีอะไรบ้าง:
1. ปัญหาและอุปสรรคที่ไม่ได้รับการแก้ไข
- ปัญหาซ้ำซาก: มักจะมีคำพูดในใจว่า “อีกแล้วหรอ”, “เมื่อไหร่จะจบสิ้นกันซักที” หากเราเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่หาวิธีแก้ไขไม่ได้หรือไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ ความรู้สึกสิ้นหวังก็จะเข้ามาแทนที่ หลายๆคนคงเคยประสบกับปัญหาซ้ำซากแน่นอน ทั้งจากตัวเอง จากคนอื่น และจากสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้
- ความล้มเหลว: การผิดหวังหรือล้มเหลวในสิ่งที่ตั้งใจทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือเป้าหมายส่วนตัวหลายๆ ครั้ง สามารถบั่นทอนกำลังใจได้มาก ถ้าเราไม่มีกำลังใจที่ดีพอ ไม่มี Support systems ที่แข็งแรง ความล้มเหลวที่เข้ามาติดๆกันหลายๆครั้ง ย่อมทำให้เรารู้สึกท้อแท้อย่างแน่นอน
- เมื่อเรารู้สึกไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้: เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือชีวิตตัวเองได้ มนุษย์เรามักจะต้องการเป็นผู้ควบคุมสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตตัวเอง แต่หากเราไม่สามารถควบคุมได้แม้กระทั่งชีวิตตัวเองแล้วหละก็ มันจะทำให้เรารู้สึกไร้อำนาจและท้อแท้
2. แรงกดดันจากภายในและภายนอก
- ความคาดหวัง: ทั้งจากตัวเราเองและจากผู้อื่น การตั้งความหวังไว้สูงเป็นเรื่องที่หลายๆคนมักจะให้ความสำคัญ แต่บางที กลายเป็นว่าตั้งความหวังไว้สูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถทำได้ตามที่หวังไว้ เราก็มักผิดหวังและท้อแท้
- การเปรียบเทียบ: การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียที่เห็นแต่ด้านดีของคนอื่น อาจทำให้เรารู้สึกด้อยกว่าและหมดกำลังใจ ท้อแท้ได้ง่ายๆ
- ภาระหน้าที่: ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ครอบครัว หรือหนี้สิน สามารถสร้างความเครียดและกดดันจนนำไปสู่ความท้อแท้ได้
3. สภาพจิตใจและสุขภาพ
- ความคิดในแง่ลบ: การมองโลกในแง่ลบ หรือการคิดวนเวียนอยู่กับความผิดพลาด รวามถึงการคาดการณ์ถึงแต่เรื่องร้ายๆ ในอนาคต เป็นบ่อเกิดของความท้อแท้ วิตกกังวล
- ขาดความมั่นใจในตัวเอง: เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่คู่ควร หรือไม่ดีพอ ก็จะทำให้ไม่กล้าลงมือทำอะไรและท้อแท้ได้ง่าย
- สุขภาพกายและใจ: การเจ็บป่วยเรื้อรัง การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการมีภาวะทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ
4. สภาพแวดล้อมและสังคม
- การสนับสนุนไม่เพียงพอ: การขาดการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้าง หรือที่เรียกว่า Support system ดังนั้น หากเราขาดคนที่เราไว้ใจ เมื่อเผชิญกับปัญหา ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและหมดกำลังใจ
- สภาพเศรษฐกิจ: ปัญหาทางการเงิน ความไม่มั่นคงในอาชีพ หรือภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย สามารถสร้างความกังวล หลายๆคนเผชิญกับปัญหานี้ สร้างความบั่นทอนในจิตใจมากเลยทีเดียว
- ความไม่ยุติธรรม: การต้องเผชิญกับความไม่ยุติธรรมในสังคมหรือในชีวิตบ่อยๆ สามารถทำให้รู้สึกท้อแท้และหมดหวัง
การทำความเข้าใจ ช่วยให้เราสามารถหาสาเหตุของความท้อแท้ที่เกิดขึ้น และเริ่มต้นที่จะหาวิธีรับมือหรือแก้ไขได้อย่างถูกจุด ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ การจัดการกับปัญหา การดูแลสุขภาพกายและใจ หรือการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญค่ะ
วิธีรับมือกับความท้อแท้
1. ทำความเข้าใจและยอมรับความรู้สึกของตัวเอง
สิ่งแรกที่สำคัญคือการ ยอมรับว่าตัวเองกำลังรู้สึกท้อแท้ หลายๆคนเผชิญปัญหา เพราะไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังรู้สึกท้อแท้ อย่ากดดันตัวเองว่าต้องเข้มแข็งตลอดเวลา การอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกเศร้า เสียใจ หรือผิดหวัง เป็นก้าวแรกของการเยียวยาค่ะ ลองถามตัวเองว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราท้อแท้ การเข้าใจต้นตอของปัญหาจะช่วยให้เราหาวิธีแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้นค่ะ
2. ปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมอง
- เปลี่ยนโฟกัส: แทนที่จะจมอยู่กับสิ่งที่ผิดพลาด ลองมองหาสิ่งดีๆ ที่ยังคงมีอยู่ ลองเขียน Gratitude Journal ได้ค่ะ ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่เรามีได้เป็นอย่างดี
- ท้าทายความคิดลบ: เมื่อความคิดลบผุดขึ้นมา ให้ลองตั้งคำถามกับมันว่า “จริงหรือ?” “มีอะไรบ้างที่เป็นไปในทางบวก?” การฝึกคิดในเชิงบวกจะช่วยปรับอารมณ์ของคุณได้ เช่น เราอาจจะทำงานได้ไม่เป็นที่พอใจของหัวหน้า ให้ลองตั้งคำถามว่า จริงหรือ… งานเราไม่ดีจริงๆ หรือว่าเป็นเพราะเหตุผลอื่น
- ตั้งเป้าหมายเล็กๆ: บางครั้งการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินไปก็ทำให้เราท้อแท้ได้ง่าย ลองซอยเป้าหมายให้เป็นส่วนเล็กๆ และเฉลิมฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เช่น แบ่งงานใหญ่ๆออกเป็น 10 งานเล็กๆ เมื่อทำสำเร็จก็ให้รางวัลตัวเอง เพื่อสร้างกำลังใจให้ตัวเอง
3. ดูแลสุขภาพกายและใจ
- พักผ่อนให้เพียงพอ: การนอนหลับที่ไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่ออารมณ์และสมาธิเราอย่างมากค่ะ ระบบร่างกายและฮอร์โมนแปรปรวน ทำให้เรารู้สึกมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้น เราควรฝึกใจ และร่างกายให้นอนและตื่นเป็นเวลา
- ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายช่วยลดความเครียดและเพิ่มสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ช่วยให้เราคลายเครียด และมีความสุขมากขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง อาหารเหล่านี้ย่อยยาก และการที่เรากินน้ำตาลมากๆ ทำให้ร่างกายโหยน้ำตาล ส่งผลเสียต่ออารมณ์ได้ค่ะ
- ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย: หาเวลาทำสิ่งที่ชอบ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำสมาธิ หรือใช้เวลากับธรรมชาติ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ ใช้เวลากับคนที่เรารัก สัตว์เลี้ยง สร้างความผ่อนคลาย
4. สร้างแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง
- ระบายความรู้สึก: การได้พูดคุยกับคนที่คุณไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น การเก็บกดความรู้สึกไว้คนเดียวมักจะทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ทำให้เรามองไม่เห็นใคร และรู้สึกท้อแท้มากขึ้นกว่าเดิม
- ขอความช่วยเหลือ: อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการขอคำปรึกษา การระบายความรู้สึก หรือแค่ต้องการกำลังใจจากใครสักคน คนที่รักเรา พร้อมจะช่วยเหลือเราเสมอ
- หลีกเลี่ยงคนหรือสถานการณ์ที่เป็นพิษ: หากมีคนหรือสถานการณ์ใดที่ทำให้คุณรู้สึกแย่บ่อยๆ การถอยห่างออกมาอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงบุคคลในโซเชี่ยลมีเดียเช่นกัน
5. ลงมือทำทีละก้าว
- เริ่มจากสิ่งเล็กๆ: เมื่อรู้สึกท้อแท้ การเริ่มต้นทำอะไรที่ใหญ่โตอาจเป็นเรื่องยาก ลองเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ง่ายๆ ก่อน เพื่อสร้างความรู้สึกของการมีชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ
- เรียนรู้จากความผิดพลาด: มองความท้อแท้หรือความผิดหวังเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ทุกความล้มเหลวคือบทเรียนที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
- อดทนและให้เวลากับตัวเอง: การก้าวผ่านความท้อแท้อาจต้องใช้เวลา อย่าเร่งรัดตัวเอง ให้เวลาตัวเองได้เยียวยาและฟื้นฟู
หากความท้อแท้ยังคงอยู่และรบกวนชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง การ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เป็นทางเลือกที่ดีเยี่ยม เพราะบางครั้งความท้อแท้อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางจิตเวชที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมค่ะ
อยากให้ทุกคนเข้าใจและดูแลตัวเองในช่วงที่ท้อแท้และเหนื่อยกับชีวิตนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านไปได้ค่ะ ขอบคุณที่แวะมาพักใจกับเราที่ Ploy’s Cozy Corner นะคะ